เศียรเทพบรมครู

                    ในความเป็นคนไทยได้ถูกอบรมให้เป็นผู้ที่มีความกตัญญู รู้จักทดแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ บรมครูทางด้านดนตรีไทยก็ได้พร่ำสอนในเรื่องความกตัญญู บรมครูดนตรีไทยได้นำความกตัญญูที่กล่าวมาข้างต้นบวกกับแนวความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เข้าด้วยกัน    จึงได้เกิดความเชื่อว่าครูดนตรีไทยนอกจากจะมีครูที่เป็นมนุษย์ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ศานุศิษย์แล้ว ยังมีครูเป็นเทวดาและฤๅษีอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ดุริยเทพ เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยในเรื่องของ ผู้สร้างเครื่องดนตรีและบทเพลง ดังนั้นในความกตัญญูของคนไทย จึงนับว่าเทวดาทั้งหลายเหล่านี้เป็นครูทางเทพยดา
                ก่อนที่จะกล่าวถึง ดุริยเทพนั้น ขอกล่าวถึง บรมเทพ 3 องค์ หรือ พระตรีมูรติ เพราะ ถือเป็นมหาเทพชั้นสูง ถือได้ว่า เป็นหัวหน้า ของดุริยเทพ ซึ่งได้แก่ พระพรหม(ผู้สร้าง) พระนารายณ์( ผู้ปกป้องรักษา) และ พระอิศวร (ผู้ทำลาย) ดังนี้
๑. พระพรหม (เทพผู้สร้าง)     ในอินเดียสมัยโบราณ พระพรหมเป็นเทพผู้สร้างโลก เป็นเทพเจ้าแห่งพรหมวิหาร มีสีขาว มี ๔ พักตร์ ๘ กร ทรงมงกุฎชัย ๒ชั้น หรือ มงกุฎเทิดน้ำเต้ากลม มีหงส์ เป็นพาหนะ สถิต ณ พรหมพฤนทา มีพระมเหสีนามว่า พระสุรัสวดี เทพเจ้าแห่งการศึกษา สร้างโลกลักษณะเศียร สีขาว หน้า ๒ ชั้น มงกุฎชัยหรือมงกุฎเทิดน้ำเต้ากลม (ย้อนกลับ)
               


๒.พระอิศวร(ศิวะ) เทพแห่งการทำลาย หากผู้ใดประพฤติเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์แล้วปรารถนาสิ่งวิเศษใด ๆ ก็ให้พรนั้น พระศิวะจะประทานสิ่งวิเศษให้ในไม่ช้า แต่เมื่อได้พรสมปรารถนาแล้ว วันหน้าหากกระทำผิดไปจากความดีงามคนผู้นั้นจะเกิดวิบัติในชีวิต พระศิวะเทพผู้จะกลายเป็นเทพผู้ทำลายทันที มี ๑ พักตร์ ๓ เนตร ๔ กร กายสีขาว มงกุฎน้ำเต้าหรือมงกุฎทรงเทิดน้ำเต้ากาบ เกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง มีประคำหัว กะโหลกคนคล้องพระศอ มีสังวาลเป็นงู พระศอสีนิล นุ่งหนังเสือ หนังช้าง หรือหนังกวาง ใช้โคเป็นพาหนะ สถิตบนเขาไกรลาศ มีพระมเหสีทรงนามว่า พระอุมา มีเทวโอรส ๒ องค์ คือ พระขันทกุมาร และพระคเณศ ลักษณะเศียร สีขาว มงกุฎน้ำเต้าหรือมงกุฎเทิดน้ำเต้ากาบ เป็นผู้ร่ายรำท่านาฏยศาสตรให้พระฤๅษีภรตมุณีเป็นผู้จดท่ารำ (ย้อนกลับ)
๓.พระนารายณ์(วิษณุ) เทพแห่งการรักษา พระวิษณุ (นารายณ์) เทพผู้คุ้มครองโลก ความเชื่อของชาวฮินดูปัจจุบันพระองค์ คือเทพผู้ทำหน้าที่บริหารหรือผู้คุ้มครองโลกที่สำคัญ กายสีดอกตะแบก (ชมพูอมม่วง) มี ๑ พักตร์ ๔ กร ยอดมงกุฎชัย มีครุฑเป็นพาหนะ สถิต ณ เกษียรสมุทร มีพระลักษมี เทพเจ้าแห่งลาภและความดีเป็นพระมเหสี ลักษณะเศียร สีดอกตะแบก ทรงมงกุฎชัย (ย้อนกลับ)



ดุริยเทพ
ดุริยเทพคือ เทพบริวารของบรมเทพที่เกี่ยวข้องทางด้านดนตร ี ได้แก่             
๑พระปัญจสิงขร    เทพเจ้าองค์นี้เดิมเคยเป็นมนุษย์ เป็นเด็กเลี้ยงโคไว้ผม ๕ แหยม เป็นผู้ที่มีใจเลื่อมใสศรัทธาในทางกุศล สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เมื่อตายจึงเกิดเป็นเทพบุตรในชั้นจาตุมหาราชมีชื่อว่า
"ปัญจสิขคนธัพเทพบุตร" มีมงกุฎ ๕ ยอด มีกายเป็นสีทอง มีกุณฑล มี ๑ พักตร์ ๔ กร ทรงอาภรณ์ไปด้วยนิลรัตน์ ทรงภูษาสีแดง มีความสามารถในเชิงดีดพิณ และขับลำนำเป็นเลิศ จนเป็นที่โปรดปรานของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ถึงกับทรงอนุญาตให้เฝ้าได้ทุกเวลา ลักษณะเศียร สีขาวมงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด (ย้อนกลับ)

๒.พระปรคนธรรพ์   
นัยที่๑  
      พระปรคนธรรพ นามที่แท้จริงว่า "พระนารท (นา-รด) หรือ พระนารทมุนี" ซึ่งเป็นคนธรรพหรือพวกมีภูษณ (ผู้มีกำเนิด) จำพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าพวกเทวดาก็ได้ เข้าพวกมนุษย์ก็ได้ เพราะมีทั้งที่อยู่บนสวรรค์ และอยู่โลกมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งว่ามีโลกต่างหากเรียกว่า"คนธรรพโลก" อยู่ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ มีหน้าที่รักษาโสม ชำนาญในการปรุงโอสถ เป็นหมอดูผู้รอบรู้กิจการทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งยังเป็นผู้ชำนาญในการขับร้อง และดุริยางคดนตรี เป็นพนักงานขับร้อง และบรรเลงดนตรีขับกล่อมพระเป็นเจ้า และเทพยนิกร ถือเป็นครูผู้เฒ่าของการขับร้อง และดนตรี ซึ่งเป็นผู้คิดทำพิณขึ้นเป็นอันแรก จึงได้นามว่า " ปรคนธรรพ" แปลว่ายอดของคนธรรพ บางทีก็เรียกว่า มหาคนธรรพ, เทพคนธรรพ, คนธรรพราช
นัยที่ ๒
  พระนารทนี้เป็นพรหมฤาษี เป็นประชาบดี และเป็นตนหนึ่งในทศฤาษี (ประชาบดีทั้งสิบ หรือมหาฤาษีทั้งสิบ) นัยหนึ่งว่าเกิดจากพระนลาฏของพระพรหมา แต่คัมภีร์วิษณุปุราณะกล่าวว่าเป็นโอรสพระกัศยปประชาบดี ด้วยเหตุนี้พระนารทจึงถือเป็นเทพเจ้าแห่งดุริยางคดนตรีองค์หนึ่ง เรียกว่า "พระปรคนธรรพเป็นยอดของเทพคนธรรพ์ ร่างกายมีขนวนเป็นขด วนทักษิณาวัฏรอบตัว มงกุฎชฎายอดฤๅษี หรือยอดกะตาปาสีเขียวใบแค มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นเทพเจ้าแห่งวิชาการดนตรี ขับร้อง ดีด สี ตี เป่า โดยยกย่องว่าเป็น ผู้ที่ประดิษฐ์พิณขึ้นมา
(ย้อนกลับ)
            เทพทั้งสององค์นี้เป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง เทพต่อจากนี้เป็นเทพที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีน้อยลงแต่ก็ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะการแสดง เศียรเทพเหล่านี้ก็จะอัญเชิญไว้ในพิธีไหว้ครูเหมือนกัน เทพที่กล่าวมานี้ ได้แก่

  .พระวิสสุกรรม หรือเรียกได้อีกหลายชื่อว่า พระวิศณุกรรม พระวิศวกรรม พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม พระวิสสุกรรมเป็นเทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ เป็นเจ้าแห่งช่างทุกช่าง รับเทวโองการต่าง ๆจากพระอินทร์ จะ เพื่อสร้าง อุปกรณ์ สิ่งของ อาคาร ต่าง ๆ มากมาย เป็น ปั้น หล่อ ก่อสร้าง สำหรับด้านดนตรีเคยมีนิยายเล่าสืบมาว่า ในครั้งหนึ่งเมืองมนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะร้อง จะเล่นแสดงอะไรไม่เป็นระเบียบ มีถ้อยคำ ที่หยาบโล้น ความถึงพระอินทร์ ต้องสั่งการให้พระวิษณุให้แปลงกายเป็น ชายชราลงมาสั่งสอนเด็ก ๆ ชาวเมืองให้รู้จักร้อง รู้จักเล่นให้เป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังดลบันดาลให้เครื่องดนตรีมี ลักษณะถูกต้อง และมีเสียงอันไพเราะ ลักษณะเศียร สีเขียว ทรงมงกุฎน้ำเต้า    บางตำราว่า หัวโล้น (หรือโผกผ้า ) (ย้อนกลับ)              

  ๒.พระฤาษี        
มีทั้งหมด ๑๐๘ ตน ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กัน ถ้าด้านนาฏศิลป์ไทย, ดนตรีไทย ฤาษีตนนั้นมีชื่อว่า " พระภรตฤาษี "(พระภรตมุณี) เป็นผู้ได้รับ เทวโองการจากพระ อิศวร (ศิวะ) ให้นำศิลปการร่ายรำ ท่าศิวนาฏราช (ท่านาฏยศาสตร์๑๐๘ท่า) มาบังเกิดในโลกมนุษย์ (ย้อนกลับ)

 

 

 

๓.พระคเณศร์(พระพิฆเณศวร)
เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ศิลปวิทยาการทั้งปวง มีกายสีแดงสัมฤทธิ์ ร่างมนุษย์ อ้วนเตี้ย ทั้งพลุ้ย หูยาน มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว มี ๔ กร มงกุฎทรงเทิดยอดน้ำเต้า ทรงหนูเป็นพาหนะ เป็นโอรสของพระอิศวรและพระอุมา ลักษณะเศียร สีแดง มงกุฎเทิดน้ำเต้า(ย้อนกลับ)




.พระพิราพ   (พระไภรวะ )      เป็นอสูรเทพบุตร อยู่เชิงเขาอัศกรรณ พระอิศวรเอากำลังพระสมุทร และพระเพลิงแบ่งประทาน และทรงกำหนดเขตป่า ให้อยู่ ถ้ามีสัตว์พลัดหลงมาในป่าให้จับกินได้ มีกายสีม่วงแก่ ๑พักตร์ ๑ กร มีหอกเป็นอาวุธ มูลเหตุที่ศิลปินเคารพบูชาเพราะว่า มีผู้ค้นคว้าไว้ว่า  เริ่มมาจากในประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่า พระพิราพ หรือพระไภรวะนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนาฏศิลป์ เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำที่เรียกว่า "วิจิตรตาณฑวะ" ซึ่งเป็นท่ารำท่าหนึ่งใน 108 ท่ารำของพระศิวะ(อิศวร) ดังนั้นจึงถือว่าท่านเป็น "นาฏราช" ที่หมู่นาฏศิลป์อินเดียให้ความเคารพเกรงกลัว เพราะถือเป็นเทพที่บันดาลความเป็นความตายได้ ลักษณะเศียรโล้น สีม่วงแก่ (พิราพเดินป่า) สวมกระบังหน้า ปากแสยะ ตาจระเข้ (ย้อนกลับ)
       ฉะนั้นในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย-นาฏศิลป์ไทยในพิธีใหญ่ จะมีเศียรเทพทั้งหมด ๙ เศียรที่กล่าวมาข้างต้น