พิธีไหว้ครู ดนตรีไทย

                     
             พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง และนับเป็น ประเพณี ของไทยที่นิยมปฏิบัติมา แต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของ ครูบาอาจารย์ ที่ประสิทธ์ประสาทวิชาเรามา ทั้งจรรยา มารยาท และศิลปะวิทยาการ ไหว้ครูยังเป็นการแสดงตน ว่าตนเองขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง เป็นการเคารพครูให้ถูกต้อง แสดงความนอบน้อมอย่างถูกวิธี ปวารณาตนให้ครูได้รับรู้ ว่าเราเป็นศิษย์ของท่านแล้ว พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอน ว่ากล่าวจากท่านทุกประการ พิธีไหว้ครู เป็นพิธีการหนึ่งที่ศิลปินไทยแขนงต่าง ๆ ไม่ว่านาฏศิลป์ โขน ละคร ดนตรีไทย หรือการแสดงทางวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ ถือเป็นพิธีสำคัญและปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีความเชื่อว่านอกจากเหล่าเทพเป็นผู้อบรมครูแห่งศิลปะการแสดงทั้งมวลที่ศิลปินต้องให้ความเคารพแล้ว ศิลปินยังต้องไหว้ครูเพื่อเป็นการระลึกถึงครูที่อบรมประสิทธิประสาทวิชาให้ทั้งครูในปัจจุบันและครูที่ได้ล่วงลับไปแล้ว
                   คนไทยเรามักจะยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณจนติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะครู อาจารย์ไม่ว่าสาขาวิชาใดเรามักจะเคารพบูชาและน้อมระลึกถึงบุญคุณอยู่เสมอ สำหรับในวิชาดนตรีไทย จะแสดงความกตัญญู ถึงครูบาอาจารย์ ด้วยการจัด พิธีไหว้ครูดนตรีไทยขึ้น พิธีไหว้ครูดนตรีไทยนับเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่ง ที่บรมครูได้กำหนดระเบียบแบบแผน ให้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ โดยได้นำหลักเกณฑ์และแนว ความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมารวมเข้าด้วยกัน จึงปรากฏว่า ครูดนตรีไทยนอกจากจะมีครูเป็นมนุษย์แล้วยังมีครูเป็นเทวดาและฤๅษีอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะถือว่า เทพบางองค์มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับดนตรีไทยนั่นเองเช่น พระปรคนธรรพ ( ประโคนธรรพ ) ถือว่าเป็นครูตะโพน ซึ่งนักดนตรีไทยถือว่าเป็นครูที่มีความสำคัญมาก พระวิษณุกรรมถือว่าเป็นครูแห่งช่างศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นต้น

การจัดพิธีไหว้ครู         การจัดพิธีไหว้ครูดนตรีไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจะทำในวันพฤหัสบดี เพราะถือว่าพระพฤหัสบดีเป็นครูของทุกวิชา บางงานจะจัดในวันอาทิตย์ถือเอา ในการจัดทำพิธีไหว้ครูนี้จะทำเป็นพิธี มีขั้นตอน มีเครื่องสังเวยมีครูผู้ทำพิธีอ่านโองการหรือที่เรียกกันว่า "พิธีกร" เป็นผู้ประกอบพิธีตั้งแต่เริ่มต้นพิธี จนเสร็จสิ้นพิธีการสิ่งสำหรับการจัดเตรียมพิธีไหว้ครูดนตรีไทยมีดังนี้
           ๑. พิธีสงฆ์ เนื่องจากชาวไทยเราเป็นพุทธ พิธีไหว้ครูจึงเริ่มจากพิธีสงฆ์ก่อน ในเย็นวันพุธจะนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งเช้าของวันพฤหัสบดี จึงถวายอาหารบิณฑบาต หรือจะจัดถวายภัตราหารเช้า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์แล้ว จึงเริ่มพิธีไหว้ครู แต่พิธีสงฆ์ไม่ได้อยู่ในระเบียบว่าต้องมี ถ้าหากไม่สะดวกจะไม่มีก็ได้ จะเริ่มด้วยการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีในช่วงเช้าเลยก็ได้
           ๒. สถานที่ประกอบพิธีไหว้คร สำหรับสถานที่ที่ใช้ประกอบในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยควรจัดให้มีเนื้อที่ กว้างขวางพอที่ศิษย์และผู้ร่วมพิธีจะนั่ง นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมที่สำหรับจัดตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชาไว้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งต้องจัดเตรียมที่สำหรับตั้งเครื่องดนตรีไทยต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยไม่ต้องจัดเป็นวง ในการจัดเครื่องดนตรีต้องมีตะโพนลูกหนึ่งตั้งรวมอยู่ด้วย เพราะในทางดนตรีไทย ถือว่าตะโพนนั้นเป็นสิ่งสมมติแทนพระปรคนธรรพ เศียรครูที่ตั้งบนโต๊ะบูชามีดังนี้ ฤๅษี พระปรคนธรรพ พระวิษณุกรรม พระปัญจสีขร พระพิราพ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมและพระคเณศ
           ๓. เครื่องสังเวยหรือเครื่องบูชากระยาบวช ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน หัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลาบายศรีปากชาม ขนมต้มแดงต้มขาวผลไม้ต่างๆถ้าในพิธีนั้นต้องการไหว้พระพิราพ ด้วยจะต้องจัดเตรียมเครื่องบูชาที่เป็นเครื่องดิบอีกชุดหนึ่ง สำหรับเครื่องสังเวยนี้จะเป็นคู่หรือจะจัดเพิ่มอย่างไรก็ได้แล้วแต่เห็นเหมาะสม
           ๔. ขันกำนล สำหรับขันกำนลนี้ จะใช้ขันล้างหน้าใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ผ้าขาว ๑ ผืน และเงินกำนล ซึ่งแต่เดิมโบราณใช้เพียง ๖ บาทเท่านั้น ในปัจจุบันอาจใช้เงินกำนลเป็นจำนวนเงินมากกว่า ๖ บาทก็ได้ (ในกรณีมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบพิธีไหว้ครูจะต้องมีขันกำนลให้นักดนตรีทุกคนในวงด้วย)
           ๕. ครูผู้อ่านโองการทำพิธี หรือที่เรียกกันว่า "พิธีกร" ครูผู้ทำพิธีนี้จะต้องนุ่งขาวห่มขาว จะเริ่มกระทำพิธีโดยจุดธูป เทียน บูชา แล้วทำน้ำมนต์ ในขณะทำพิธีนั้นครูผู้ทำพิธีจะเป็นผู้อ่านโองการนำให้ผู้ร่วมพิธีว่าตาม ซึ่งเริ่มจากบูชาพระรัตนตรัย ไหว้ครูบาอาจารย์ บิดา มารดา ขอพรต่าง ๆ ขณะทำพิธีจะมีวงปี่พาทย์มาร่วมบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ ตามที่ครูผู้ทำพิธีจะเรียกว่าจะให้บรรเลงเพลงใดประกอบในช่วงใด จากนั้นจึงถวายเครื่องสังเวย และกล่าวลาเครื่องสังเวย ครูผู้ทำพิธีประพรมน้ำมนต์และเจิมเครื่องดนตรีและหน้าโขนต่าง ๆ จนครบแล้ว จึงนำน้ำมนต์นั้นมาประพรมให้ลูกศิษย์และเจิมให้แก่ลูกศิษย์ตลอดจนผู้ที่มาร่วมในพิธี ถือเสร็จสิ้นขั้นตอน
๖.เพลงหน้าพาทย์ประกอบในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ในการประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทยสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาคือ การนำวงดนตรีที่เรียกว่า "วงปี่พาทย์" มาบรรเลงประกอบในระหว่าง การทำพิธีไหว้ครู เพื่อต้องการให้เสียงดนตรี เป็นสื่อให้ทุกคนที่มาร่วมในพิธีได้น้อมระลึกถึงครูบาอาจารย์ด้วยอาการเคารพ และสำรวม เพราะเพลงที่นำมาบรรเลงนั้นเป็นเพลงชั้นสูงที่เรียกว่า " เพลงหน้าพาทย์" มีความศักดิ์สิทธิ์และแสดงความหมายถึงครูแต่ละท่านโดยเฉพาะ
                    ในการทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยนั้นจะมีพิธีกรกล่าวนำ บทไหว้ครู (บทไหว้ครูนั้นแต่ละสำนักดนตรีจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย) เมื่อครูผู้ทำพิธีกระทำกิจด้วยการว่าคาถาอัญเชิญเทวดา สรรเสริญพระพุทธคุณและทำน้ำมนต์เสร็จแล้ว จะบอกให้ลูกศิษย์และผู้มาร่วมพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และอธิษฐานขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นจะนำกล่าวคาถาบทอัญเชิญครูในแต่ละบทดังนี้
บทที่ ๑ จุดธุปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและบูชาคร
วงปี่พาทย์บรรเลง เพลงสาธุการเพื่อเป็นการนมัสการพระรัตนตรัยและบูชาครูบาอาจารย์
บทที่ ๒ กล่าวบทบูชาพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา ครูอาจารย
เมื่อกล่าวจบแล้ว ครูผู้ทำหน้าที่จะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการกลอง ซึ่งเป็นการบูชาพระรัตนตรัยและบูชาครูบาอาจารย์ (เมื่อจบเพลงสาธุการกลองแล้ว ครูผู้ทำพิธีบางท่านอาจจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงโหมโรงที่เรียกว่า" โหมโรงสิ่งละอันพันละน้อย" เป็นการบูชาและอัญเชิญอีกครั้งหนึ่ง)
บทที่ ๓ บูชาพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์และเทวดาต่างๆ
ครูผู้ทำพิธีจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงตระสันนิบาต ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพื่อเป็นการสมมติว่า เทพเจ้าทั้ง 3 นั้นได้เสด็จมาพร้อมกับเสียงเพลง เมื่อบรรเลงเพลงจบแสดงว่าท่านได้เสด็จมาร่วมในพิธีแล้ว
บทที่ ๔ อัญเชิญพระปัญจสีขร
(สำหรับพระปัญจสีขรนี้ถือว่าเป็นครูเครื่องดนตรีประเภทดีดและสี)เมื่อกล่าวจบ ครูผู้ทำพิธีจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงตระเชิญเพื่อใช้ประกอบกิริยาการเสด็จมา
บทที่๕อัญเชิญพระวิษณุกรรม,พระปัญจสีขร,พระปรคนธรรพ
เมื่อครูผู้ทำพิธีกล่าวจบแล้วจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงดำเนินพราหมณ์ เสมอข้ามสมุทรเพื่อเป็นการประกอบกิริยาการเสด็จมาของเทพเจ้าทั้ง 3 องค์       
บทที่๖ขอขมาอภัยในเรื่องของเครื่องพิธีกรรมต่างๆ
เมื่อครูผู้ทำพิธีกล่าวจบแล้ว จะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลง "เพลงบาทสกุณี" เพื่อใช้ประกอบกิริยาการมาของเหล่าเทพเจ้าและเป็นการขออโหสิกรรมและอวยพรให้
บทที่๗ อัญเชิญครูฤๅษ
เมื่อครูผู้ทำพิธีกล่าวจบแล้วจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลง "เพลงเสมอเถร" เพื่อใช้ประกอบกิริยาการมาของครูฤๅษี
บทที่ ๘ อัญเชิญครูแห่งดุริยางคศิลป
เมื่อครูผู้ทำพิธีกล่าวจบแล้ว จะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงตระปรคนธรรพ เพื่อเป็นการเชิญและประกอบกิริยาการเสด็จมาของพระปรคนธรรพ
บทที่ ๙
อัญเชิญเทพเจ้า ฤๅษี และครูต่าง ๆ
เพื่อถวายเครื่องสังเวยหรือเครื่องบูชาที่จัดเตรียมไว้โดยครูผู้ทำพิธีจะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลง "เพลงพราหมณ์เข้า" ใช้ประกอบกิริยาการเสด็จเข้าสู่ที่ประทับเพื่อรับเครื่องสังเวย
บทที่ ๑๐ อัญเชิญพระพิราพ
เมื่อกล่าวจบแล้วครูผู้ทำพิธีบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลง "เพลงองค์พระพิราพเต็มองค์" ซึ่งเพลงหน้าพาทย์เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงสำคัญสูงสุด เมื่อบรรเลงจบครูผู้ทำพิธีจะบอกให้บรรเลงเพลง "เสมอมาร" ต่อท้ายเพื่ออัญเชิญครูพระพิรามเสด็จเข้าสู่ที่ประทับ
บทที่๑๑ ถวายเครื่องสังเวย
เมื่อครูผู้ทำพิธีกล่าวจบแล้ว จะบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลง"นั่งกิน, เซ่นเหล้า" เพื่อประกอบกิริยาการรับเครื่องสังเวยต่าง ๆ
บทที่ ๑๒ ลาเครื่องสังเวย
เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันสมควรแล้ว ครูผู้ทำพิธีกล่าวลาเครื่องสังเวยโดยบอกให้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นชุดสุดท้ายดังนี้
           ๑. เพลงพราหมณ์ออก บรรเลงเป็นชุดสุดท้ายประกอบกิริยาการเสด็จออกจากโรงพิธีของครูและเทพเจ้าต่าง ๆ
          ๒. เพลงเสมอเข้าที่ บรรเลงประกอบกิริยาการเสด็จคืนสู่ที่ประทับในชั้นวิมานต่าง ๆ
           ๓. เพลงโปรยข้าวตอก เป็นการบรรเลงเมื่อแสดงความเคารพและส่งครูด้วยข้าวตอกดอกไม้
           ๔. เพลงเชิด เป็นการบรรเลงเพื่อประกอบกิริยาการเสด็จกลับของหมู่เทวดาต่าง ๆ
           ๕. เพลงกราวรำ เป็นการบรรเลงเพื่อแสดงถึงการอวยพรและบอกให้รู้ว่าพิธี สิ้นสุด ซึ่งถือเป็นเพลงสุดท้ายของ เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย
ประโยชน์ของการไหว้ครู
การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูตามประเพณีที่ถูกต้องย่อมบังเกิดประโยชน์ได้หลายประการ ดังนี้
           ๑. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป
           ๒. ได้แสดงออกถึงความกตัญญู กตเวที อันเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อไป รู้สึกกตัญญู กตเวทีต่อครูบาอาจารย์
          ๓. เป็นการบำรุงขวัญของผู้ที่ได้ร่วมในพิธีไหว้ครูและครอบครู เพราะว่าได้กระทำพิธีต่างๆ ครบถ้วนตามแบบแผนแล้วเวลาที่จะบรรเลงดนตรีหรือทำการใดๆที่เกี่ยวกับดนตรีก็จะมีขวัญและจิตใจมั่นคงในการปฏิบัติ
           ๔. เป็นการเสริมความสามัคคีระหว่างดุริยางคศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธีไหว้ครูนั้นบรรดานักดนตรีทั้งหลายแม้จะอยู่คนละสำนัก ก็จะมาเข้าร่วมในพิธีไหว้ครูด้วยกัน ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นอันดี เป็นการเชื่อมความสามัคคีในหมู่ดุริยางคศิลปินด้วยกันให้แน่นแฟ้น