การครอบ

                    การ ครอบ หมายถึง การประสิทธิ์ประสาทวิทยาการหรืออนุมัติให้เริ่มเรียนวิชาในขั้นนั้นๆ ได้
้ วิธีการครอบครูศิลปะต่างๆไทยแต่ละแขนงมีความแตกต่างกัน ส่วนของดนตรีไทยถือว่าการเรียนรู้ปี่พาทย์เป็นหลักสำคัญของดนตรีทั้งหลายการครอบจึงมีขั้นตอนมากกว่า การเรียนรู้เครื่องสายและขับร้อง จำแนกการครอบครูของดนตรีแต่ละประเภทได้ดังนี้
๑การครอบด้วยฉิ่ง การใช้ฉิ่งครอบศีรษะใช้ครอบการเรียนดนตรีทุกอย่างที่ไม่สะดวกในการจับมือ หรือกลุ่มผู้เรียนกลุ่มที่มิได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ต่างๆเช่นกลุ่มเครื่องสายและขับร้องครูผู้ครอบจะใช้ฉิ่งครอบ
๒ การครอบโดยการจับมือ (กลุ่มผู้เริ่มเรียนปี่พาทย์)
มีรายละเอียดการครอบดังนี้
ครอบ(จับมือ)ครั้งที่๑เป็นการครอบอย่างย่อ ผู้เรียนนำดอกไม้ ธูปเทียนและเงินกำนล มามอบให้ครูด้วยคารวะ แล้วครูก็จับมือศิษย์ผู้นั้นให้ตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นเพลงสาธุการ สามครั้ง ก็เป็นอันเสร็จ ถือว่าศิษย์ผู้นั้น เริ่มเรียนปี่พาทย์ต่อไปได้ โดยต่อเพลงสาธุการ จากครูท่านใดก็ได้ จนจบ แล้วก็เรียนเพลงชุดโหมโรงเย็น(เพลงหน้าพาทย์ชั้นต้น)จนจบ แต่ยกเว้นเพลงตระโหมโรง ( ต้องจับมือขั้นที่ ๒ ก่อน)
ครอบ(จับมือ)ครั้งที่๒  เมื่อศิษย์เรียนเพลงโหมโรงเย็นจบแล้ว และจะเริ่มเรียนเพลง ตระโหมโรง ซึ่งยังไม่ได้เรียน ครูผู้ครอบจะครอบด้วยการจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นเพลงตระสามครั้ง
ครอบ(จับมือ)ครั้งที่๓ เป็นการเริ่มเรียนโหมโรงกลางวัน ซึ่งครูผู้ครอบจะจับมือตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นเพลง ตระบองกัน สามครั้ง 
ครอบ(จับมือ)ครั้งที่๔  เริ่มเรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ครูจะจับมือตีฆ้องวงใหญ่ขึ้นต้นเพลง บาทสกุณี (เสมอตีนนก) สามครั้ง
ครอบ(จับมือ)ครั้งที่๕   ขั้นนี้จะเรียน  เพลงองค์พระพิราพ ซึ่งนับเป็นเพลงที่อยู่ในระดับสูงสุด คุณสมบัติของผู้เข้ารับการครอบในขั้นนี้
๑    ผู้นั้นจะต้องผ่านการครอบขั้นต้นมาแล้ว ๔ ขั้นดังกล่าวแล้ว ซึ่งหมายถึงผู้เข้ารับการครอบต้องได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ในแต่ละ ขั้นตอนของพิธีครอบขั้นต้นครบถ้วนแล้ว
๒.    ผู้เข้ารับการครอบในขั้นที่ ๕ นี้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า๓๐ ปี
๓.    จะต้องอุปสมบทมาแล้ว (หมายถึงได้บวชเรียนแล้ว)
๔.    หรือผู้นี้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  เมื่อพิจารณาว่ามีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนจึงจะครอบเรียนเพลงองค์พระพิราพได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
                            ๑.   จุดธูปเทียน และดอกไม้เพื่อบูชาองค์พระพิราพก่อนที่จะเริ่มต้นเพลง
                           ๒.    ครูผู้กระทำพิธีจับมือศิษย์ให้ตีฆ้องวงใหญ่ทำนองเพลงตอนขึ้นต้นองค์พระ 3 ครั้ง
                            ๓.   ควรเรียนเพลง(ต่อเพลง)ที่เหลือทั้งหมดหรือทบทวนเพลงนี้ในวันพฤหัสบดี
            เพื่อความเป็นสิริมงคลของทั้งผู้กระทำพิธี และผู้เข้าร่วมในพิธี จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ และต้องระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของพิธีการโดยเคร่งครัดด้วย