หน้า ๒


เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่เกิดเสียงจากโลหะ สามารถดำเนินทำนองได้


 

ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องตีประเภทบรรเลงทำนอง ลูกระนาดทำด้วยโลหะเป็นแท่งวางเรียงอยู่บนราง รางระนาดทำด้วยไม้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสมวงดนตรีให้ เป็นวงที่เรียกว่า " วงเครื่องใหญ่ " โดยให้มีลูกและเสียงเท่ากับระนาดเอก และ มีวิธีตีเช่นเดียวกับระนาดเอก แต่ไม่เป็นผู้นำวง ช่วย ให้วงมีเสียงดังกระหึ่มขึ้น (ย้อนกลับ)




 

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งสร้างขึ้นมาเป็นคู่กับระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระ ดำริให้สร้างเพิ่มเติมอีกแบบหนึ่ง โดย ได้แนวคิดมาจากหีบเพลงฝรั่ง (เครื่องเขี่ยหวีเหล็ก) ให้มาเป็นคู่กับระนาดเอกเหล็กในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ มีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับระนาดเอกเหล็กทุกประการ ผิดกันแต่ที่สัดส่วนของราง และลูกเหล็ก อ้วนใหญ่กว่า มีลูกเหล็กเพียง ๑๗ ลูก (ย้อนกลับ)



 

ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องตีประเภทบรรเลงทำนองที่ทำด้วยโลหะหลอมกลึงเป็นลูกๆทรงกลม   มีขนาดลูกฆ้องลดหลั่นกัน  ๑๖ ลูก แขวนอยู่บนร้านฆ้อง ซึ่งทำด้วย หวายดัดโค้งเป็นวงกลม ผู้ตีนั่งอยู่ในวงฆ้อง ประสมอยู่ในวงปี่พาทย์เครื่องห้าตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีหน้าที่ดำเนินทำนองหลัก เป็นหลักของวงปี่พาทย์ เดิมเรียก ฆ้องวง ต่อมาเมื่อมีฆ้องวงเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงเรียกฆ้องที่มีอยู่เดิมว่าฆ้องวงใหญ่ เพราะมีขนาดใหญ่กว่า (ย้อนกลับ)


 

ฆ้องวงเล็ก เป็นเครื่องตีประเภทบรรเลงทำนองอีกประเภทหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ หลอม ตี ให้เป็นลูกๆทรงกลม เช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า และมากกว่าฆ้องวงใหญ่ ๒ ลูก เป็น ๑๘ ลูก สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นคู่กับฆ้องวงใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในวงวงปี่พาทย์เครื่องคู่ (ย้อนกลับ)





 

ฆ้องมอญ เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ตัวฆ้องมีลักษณะเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ แขวนติดกับรางที่ทำเป็นกล่องเสียง ตั้งเป็นรูปครึ่งวงกลมโค้งขึ้นคล้ายตัวยู มีขาตั้งกับพื้น ตีด้วยไม้นวม ฆ้องมอญมี๒ชนิดคือ ฆ้องมอญวงเล็กมี๑๘ - ๑๙ ลูก ฆ้องมอญวงใหญ่มี ๑๖ ลูก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ (ย้อนกลับ)

 

 

ฆ้องหุ่ย ๗ ใบ   (ฆ้องดึกดำบรรพ์) เป็นฆ้องที่ทำด้วยโลหะ เช่นเดียวกับฆ้องชัย ฆ้องชนิดนี้ ใช้บรรเลงในวง ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงปรับปรุงขึ้นในรัชกาลที่ ๕ โดยให้มีฆ้อง หุ่ย ๗ ใบ เทียบ ๗ เสียง เรียงลำดับได้ขนาดลดหลั่น แขวนตีบนขาตั้งโหม่งซึ่งทำด้วยไม้ มีขนาดเรียงลำดับตามลูกฆ้อง และเชื่อมต่อกันเป็นวงกลม ฆ้องชนิดนี้จะตีเป็นทำนองเพลง โดยตีตามเทำนองตรงจังหวะใหญ่ (ย้อนกลับ)




 


ขิม ขิมถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัย รัชกาลที่๔ โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดง งิ้ว บ้าง บรรเลงในงานเทศกาล และงานรื่นเริงต่างๆ นักดนตรีไทย นำขิมมาบรรเลงในสมัยต้น รัชกาลที่ ๖ โดยปรับรูปลักษณ์บางอย่าง เช่น เปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดใหญ๋ขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับ ไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสาย มีความหนา กว่าของเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไปให้หุ้มสักหลาดหรือหุ้มหนังตรงปลายไม้ตี ส่วนที่กระทบกับสาย ทำให้เสียง เกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผลมจนถึงปัจจุบัน (ย้อนกลับ)

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่เกิดเสียงจากโลหะ ไม่สามารถดำเนินทำนองได้
ประเภทกำกับจังหวะ


ฉิ่ง เป็นเครื่องตีประเภทกำกับจังหวะ ทำด้วยทองเหลือง ลักษณะคล้ายถ้วยชามไม่มีก้น ชุดหนึ่งมี ๒ ฝา เรียกตามลักษณะนามว่า “ คู่ ” ตรงกลางที่เว้าเจาะรู สำหรับร้อยเชือก เพื่อสะดวกในการถือตี มีเสียงดัง ๒ เสียง คือ เสียงฉิ่ง(เบา) และเสียงฉับ(หนัก) ใช้ตีเป็นเครื่องกำกับหนัก- เบาที่สำคัญ ในวงดนตรีไทยทุกวง ซึ่งเปรียบเสมือนผู้อำนวยเพลงของดนตรีสากล (ย้อนกลับ)

ประเภทประกอบจังหวะ



 


 

ฉาบ เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ทองเหลือง มีรูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่บางกว่า ตรงกลางทำนูนเป็นปุ่มขนาดวางลงกลางอุ้งมือได้พอดี ขอบนอกแบนราบออกไป โดยรอบ เจาะรูตรงกลางปุ่มเพื่อ ร้อยเชือกสำหรับจับ นิยมใช้ตีประกอบจังหวะให้สนุกสนาน ฉาบมี ๒ ชนิด “ ฉาบใหญ่” “ ฉาบเล็ก" (ย้อนกลับ)



 

ฆ้องโหม่ง เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะย่อย เวลาตีมีเสียงดัง “ โหม่ง โหม่ง โหม่ง ” คนไทยรู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ คู่กันมากับกลอง ดังมีภาษาที่เรียกว่า “ ฆ้องกลอง ” ซึ่งใช้ตีเป็นเครื่องกำหนดเวลามาในระยะหนึ่ง กล่าวคือ ตอนกลางคืนใช้กลองตีดังเป็น เสียง “ ตุ้ หรือ ทุ้ม ” จึงเรียกส่วนแห่งเวลากลางคืนว่า “ ทุ่ม ” ตอนกลางวันใช้ฆ้องตีว่า “ โหม่ง หรือโหมง ” จึงเรียกส่วนแห่งเวลากลางวันว่า “ โมง ” ซึ่งเรียกติดปากกันมา จนถึงทุกวันนี้ ฆ้องโหม่ง ทำด้วยโละ เช่น ทองเหลือง หลอมเป็นรูปทรงกลม ผายกว้าง ตอนกลางนูนเป็นปุ่มสำหรับตี มีขอบงุ้มลงโดยรอบเรียกว่า “ ฉัตร ” ที่ฉัตรเจาะรู ๒ รูสำหรับร้อยเชือกผูกถือ หรือแขวนตี เวลาตีใช้ไม้ตี (ย้อนกลับ)

 



ฆ้องเหม่ง
เป็นเครื่องตีอีกอย่างหนึ่งที่ทำด้วยโลหะเช่นเดียวกับฆ้อง แต่มีขนาดเล็กกว่าและหนากว่าเวลาตีตีด้วยท่อนไม้ร่วมผสมอยู่ในวง “บัวลอย”  (กลองสี่ปี่หนึ่ง)ฆ้องชนิดนี้มีน้ำหนักมาก  เวลาตีจะใช้เชือกผูกกับไม้โยงมาร้อยที่ฉัตร สำหรับถือตี  ตีด้วยท่อนไม้เนื้ออ่อน  ตรงกลางปุ่มฆ้อง มีเสียงดัง เหม่ง  เหม่ง (ย้อนกลับ)

ฆ้องระเบ็ง    ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีก อย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว"
(ย้อนกลับ)



 

ฆ้องโหม่ง ๓ ใบ (โหม่งมอญ) ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์มอญมี ๓ ใบ๓ขนาด ขนาดเล็ก(เสียงโหม่ง) ขนาดกลาง(เสียงเม็ง) ขนาดใหญ่ (เสียงหุ่ย) (ย้อนกลับ)

 


มโหระทึก
เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะทั้งลูก มโหระทึกมีมาตั้งแต่ยุคโลหะตอนปลาย (ยุคก่อนประวัติศาสตร์)ซึ่งตกประมาณ ๓ ๐๐๐ปีมาแล้ว มีพบในหลายประเทศในสุวรรณภูมิ ลักษณะหน้ากลองแบนกว้าง บริเวณตรงกลางหน้ากลองนิยมทำเป็นรูปดาวและมีลวดลายอื่น ๆ ประกอบ ด้านข้างตัวกลองมักจะหลักลวดลายต่าง ๆ ฐานกลองเป็นทรงกระบอกกลวงในการตีจะวางมโหระทึก ตั้งเอาหน้ากลองขึ้น ใช้ไม้ตี สองอัน ทำด้วย ไม้รวก หรือไม้เนื้อแข็งเหลากลม ปลายที่ใช้ตี พันด้วยผ้าให้แน่นแล้วพันไขว้ด้วยเส้นด้าย คนไทย ใช้มโหระทึกมาแต่โบราณ มีกล่าวถึง ในสมัยสุโขทัย ใช้ตีในเทศกาล งานรื่นเริง สมัยอยุธยามีกำหนด ให้ตีมโหระทึก ในงานพระราชพิธี สมัยรัตนโกสินทร์ ใช้ประโคมร่วมกับแตร สำหรับพระราชอิสริยยศ ของพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จออก ในงานพระราชพิธี ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะ ในงานเสด็จพระราช ดำเนิน โดยขบวน พยุหยาตราทางชลมารค และในขบวนอื่นๆ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ เป็นการพิเศษ แก่วัดสามวัด ให้มีการประโคมมโหระทึกของ พระภิกษุสงฆ์ ทำวัตรสวดมนต์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (ย้อนกลับ)



กังสดาล เป็นระฆังวงเดือน หล่อจากสัมฤทธิ์ หรือทองเหลือง ด้านบนเจาะรูไว้แขวน ใช้เป็นเครื่องตีบอกสัญญาณ ของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ และใช้ประกอบ การบรรเลงดนตรีในบางโอกาส (ย้อนกลับ)




หน้า ๒