วิธีการใช้และรักษาคุณภาพเครื่องดนตรีไทย

วิธีการใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด
จะเข้
๑.วิธีการนั่งบรรเลงจะเข้ ให้นั่งพับเพียบตัวตรงด้านกระพุ้งอยู่ด้านซ้ายมือของผู้บรรเลง ลูกบิดอยู่ด้านขวามือ ของผู้บรรเลงมือซ้ายใช้สำหรับ กดนมจะเข้ มือขวาสำหรับพันไม้ดีด และดีดสายจะเข้
๒.การอุ้มจะเข้ ต้องอุ้มให้ขนานกับพื้น โดยนำกระพุ้งแนบด้านข้างลำตัวผู้ถือจะเข้
๓.เมื่อบรรเลงจะเข้เสร็จควรเก็บเข้าชิดข้างฝาผนัง หรือด้านในของเวทีเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกัน ความเสียหาย ๔.การทำความสะอาดจะเข้ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มชุบน้ำหมาดๆเช็ดตัวจะเข้
๕.คลุมจะเข้ด้วยผ้าเพื่อกันฝุ่นละออง (ย้อนกลับ)

วิธีการใช้และการดูแล รักษาเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี
ระนาดเอก และระนาดทุ้ม

๑.ลักษณะการบรรเลงระนาดผู้บรรเลงนั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิ โดยให้ลำตัวอยู่กึ่งกลางของเท้าระนาดการจับไม้ระนาด ให้นิ้วชี้อยู่ด้านบนของก้านไม้ นิ้วโป้งอยู่ด้านข้างนิ้วกลางนิ้วนางนิ้วก้อยกำอยู่ใต้ไม้
๒.เมื่อบรรเลงเสร็จต้องปลดเชือกคล้องหูระนาดด้านซ้ายมือลงเพื่อป้องกันไม่ให้เชือกรับน้ำหนักของผืนตลอดเวลา
๓.ควรเก็บไม้ระนาดไว้ใต้ราง ไม่วางทิ้งบนพื้น หรือวางบนผืนระนาด เพราะอาจจะหักได้ ในกรณีนั่งทับ
๔.การเคลื่อนย้ายระนาดควรใช้การยก แทนการลากหรือดึง เพราะจะทำให้ระนาดล้ม อาจเสียหาย ได้
๕.ถ้าตะกั่วใต้ผืนระนาดหลุด ควรใช้ไม้ขีดไฟ หรือไฟแช็ค ลนเพื่อให้ตะกั่วอ่อนตัว แล้วติดไว้ตามเดิม ห้ามใช้เทียนไขลนเพราะอาจทำให้น้ำตาเทียนหยดผสมกับตะกั่วทำให้ลื่นและติดไม่อยู่
ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก
๑.การบรรเลงฆ้องวง ผู้เล่นต้องนั่งให้ตรงกลางฆ้องวง วิธีการนั่ง นั่งได้ทั้งพับเพียบหรือขัดสมาธิ การจับไม้ตีฆ้องวงผู้บรรเลงต้องรวบนิ้วกลางนิ้วนางและนิ้วก้อย กำไม้ฆ้องไว้กับฝ่ามือ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้เป็นตัวประคอง ให้นิ้วชี้ชิดกับหัวไม้ ๒.การเก็บไม้ตีฆ้อง ควรมีถุงใส่ หรือวางรวมกันไว้บนลูกฆ้อง ไม่ควรวางกับพื้น
๓.การทำความสะอาด ควรใช้ผ้าแห้งหรือผ้าหมาดๆทำความสะอาด
๔.ควรวางฆ้องวงให้ราบกับพื้น ไม่ควรวางหรือตั้งพิงไว้ข้างฝาผนัง เพราะอาจทำให้ฆ้องวงล้มอาจหักได้
๕.การยกฆ้องวง ไม่ควรยกเพียงคนเดียวเนื่องจากเป็นเครื่องตีที่มีน้ำหนักมากและขนาดใหญ่ ควรจะยกฆ้อง ให้ตั้งฉาก หรือขนานกับพื้น ห้ามกับด้าน
ขิม
๑.การบรรเลงขิม ควรนั่งพับเพียบให้อยู่ตรงกลางขิม ระยะห่างประมาณ ๑ คืบ นั่งตัวตรงไม่โน้มตัวไปทางใดทางหนึ่ง การจับไม้ตีขิม ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทั้ง ๒ มือจับไม้ตีขิม นิ้วที่เหลือหุ้มในลักษณะดอก บัวตูม
๒.เมื่อบรรเลงเสร็จควรปิดฝาขิม
๓.การเก็บไม้ขิมควรมีกล่องใส่ที่มิดชิด หรือถ้าเป็นถุงต้องระมัดระวังจากการกระทบกระเทือนเพราะไม้ตีมี ความอ่อนแอมาก
๔.การทำความสะอาดขิม ควรใช้ที่ปัดฝุ่นหรือแปรงขนาดเล็กปัด เพราะผ้าไม่สามรถเข้าไปในซอก เล็กๆของ ขิม ได้
กลอง
๑ ในกรณีกลองประเภทที่ต้องใช้ข้าวติดหน้ากลอง ให้ทำความสะอาดโดยการใช้ผ้าเปียกน้ำพอหมาดๆเช็ดหน้ากลองให้สะอาด
๒ นำกลองที่ทำความสะอาดแล้วใช้ผ้าคลุมหรือนำผ้าไปตัดเป็นถุงใส่ เพื่อกันความชื้น
๓ ตรวจสอบคุณภาพความตึงของเสียงกลองให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ (ย้อนกลับ)
วิธีการใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี
ซอด้วงและซออู้
๑.ผู้บรรเลงควรขึ้นสายซอ และเลื่อนหย่องหรือหมอน(ใช้หนุนสายซอ) ให้อยู่กึ่งกลางของหน้าซอ จากนั้นเทียบเสียงของซอตามประเภทซอนั้นๆ ผู้บรรเลงนั่งตัวตรง มือซ้ายจับคันซอเพื่อกด สายซอ มือขวา จับคันชักวางกะโหลกซอตรงหน้าขาซ้ายข้างลำตัวของผู้บรรเลง
๒.เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรลดสายและปลดหย่อง เลื่อนหมอนขึ้นไว้บนขอบกะโหลกซอ เพื่อป้องกัน หน้าซอยุบตัวจากการกดทับของสาย และเก็บคันชักซอคล้องไว้กับลูกบิด โดยนำส่วนที่ใช้จับขึ้น ด้านบน ๓.ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มและแห้งเช็ดซอทุกครั้งจากการบรรเลงเสร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วน กะโหลกซอ เพราะจะมีฝุ่นของยางสนติดสะสมอยู่
๔.การถือซอให้แนบกับลำตัวโดยตั้งฉากกับพื้น ไม่แกว่งไปมา
๕.ไม่ควรพิงซอไว้ข้างฝาผนัง หรือวางชิดขอบโต๊ะ เพราะอาจล้มหรือตกจนเกิดความเสียหายได้
๖. ควรใส่ถุงเก็บเพื่อสะดวกในการเก็บและถือ (ย้อนกลับ)

วิธีการใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า
ขลุ่ย และปี่
๑.ท่านั่งในการเป่า ผู้เป่าสามารถนั่งได้ทั้งท่าพับเพียบและนั่งขัดสมาธิ นั่งตัวตรง ยกมือทั้งสองข้างให้แขนทั้งสองข้างกลางออกพอประมาณ ไม่หนีบแขน จับขลุ่ยและปี่ในท่าสบาย ไม่เกร็ง โดยใช้มือ ขวาอยู่ด้านบนมือซ้ายอยู่ด้านล่าง
๒.เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรทำความสะอาดโดยการนำส่วนที่เปียกน้ำลายไปล้างด้วยน้ำสะอาดส่วนใดที่ไม่ถูก น้ำลายให้ใช้ผ้าเช็ด
๓.ไม่ควรวางขลุ่ยหรือปี่วางไว้กับพื้น สามารถกลิ้ง หรือตกทำให้แตกได้
๔. ควรเก็บใส่กล่องหรือถุงให้เรียบร้อย (ย้อนกลับ)